Get Adobe Flash player

เมนูหลัก

            วันที่ 19 มกราคม 2558 เวลา 14.00 น. สมเด็จพระวันรัต ผู้รักษาการแทนเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต  กรรมการมหาเถรสมาคม กรรมการที่ปรึกษา สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ (ธรรมยุต)เป็นประธานเปิดการฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ รุ่นที่ 21 ประจำปี  พ.ศ. 2558  ระหว่างวันที่ 19  มกราคม – 7 เมษายน พ.ศ. 2558 ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีมหาธาตุ  แขวงอนุสาวรีย์  เขตบางเขน  กรุงเทพมหานคร

            ผู้แทนจากมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ได้ถวายรายงานการฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศรุ่นที่ 21/2558 ความว่า “ขอประทานกราบเรียน  เจ้าประคุณ สมเด็จพระวันรัต ผู้รักษาการแทนเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต  กรรมการมหาเถรสมาคม กรรมการที่ปรึกษา สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ (ธรรมยุต) ประธานในพิธีที่เคารพอย่างสูง
            สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ (ธรรมยุต)  คณะกรรมการ เจ้าหน้าที่   คณะสงฆ์วัดพระศรีมหาธาตุ ผู้เข้ารับการฝึกอบรมฯ และผู้เข้าร่วมพิธีทุกท่าน รู้สึกเป็นพระคุณอย่างสูงยิ่ง ที่ได้รับความเมตตาจากเจ้าประคุณ สมเด็จฯ มาเป็นประธานในพิธีเปิดการฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ (ธรรมยุต) รุ่นที่ 21 ประจำปี พ.ศ. 2558 ครั้งนี้
            สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ (ธรรมยุต) ในความอุปถัมภ์ของมหาเถรสมาคม ร่วมกับวัดพระศรีมหาธาตุ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  ได้จัดให้มีการฝึกอบรมพระภิกษุเป็นพระธรรมทูตไปต่างประเทศขึ้น ตั้งแต่    พ.ศ. 2538  เป็นต้นมา  โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้

            1. เพื่อเตรียมพระธรรมทูตที่มีคุณภาพ มีศีลาจารวัตรอันดีงาม มีความรู้ความสามารถทั้งในทางโลกและทางธรรม ส่งไปปฏิบัติศาสนกิจประจำวัดต่าง ๆ ในต่างประเทศ
            2. เพื่อฝึกอบรมพระธรรมทูตให้มีความสามัคคี มีความมั่นใจในการปฏิบัติศาสนกิจด้านการเผยแผ่ในต่างประเทศ และให้มีหลักการสอนที่สอดคล้องเหมาะสมใกล้เคียงกัน
            3. เพื่อสนองงานด้านการเผยแผ่ของคณะสงฆ์และมหาเถรสมาคม
            4. เพื่อสืบต่ออายุพระพุทธศาสนาและรักษาศรัทธาของชาวพุทธทั่วโลก
            หลักสูตรที่ใช้ในการฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ (ธรรมยุต) ใช้เวลาการฝึกอบรม รวมทั้งสิ้น 3 เดือน ระหว่างวันที่ 19 มกราคม ถึง 7 เมษายน ศกนี้  โดยแบ่งการฝึกอบรมเป็น 3 ภาคคือ ภาควิชาการ  ภาคจิตภาวนา ภาคศึกษาดูงานและนมัสการสังเวชนียสถานในประเทศอินเดีย-เนปาล  นอกจากนี้ ยังได้เพิ่มการฝึกอบรมทักษะภาษาอังกฤษด้านต่าง ๆ โดยให้มีการประเมินผลด้านภาษาอังกฤษก่อนการจบการฝึกอบรมด้วย
ด้านสถานที่พักและสถานที่ฝึกอบรมพระธรรมทูตฯ นั้น ได้รับความอนุเคราะห์จาก วัดพระศรีมหาธาตุ กรุงเทพมหานคร เป็นสถานที่ฝึกอบรมภาควิชาการ                 วัดพระศรีมหาธาตุ และวัดเฉลิมพระเกียรติ รัชกาลที่ 4 คลองหลวงแพ่ง เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร เป็นสถานที่ฝึกอบรมภาคจิตภาวนา  ภาคศึกษาดูงานและนมัสการสังเวชนียสถานในประเทศอินเดีย-เนปาล  มีวัดเนรัญชราวาส วัดกุสาวดีพุทธวิหาร วัดไทยสิริ     ราชคฤห์ เป็นต้น

            สำหรับผู้เข้ารับการฝึกอบรมฯ ในรุ่นที่ 21 นี้  มีจำนวน 53 รูป  ประกอบด้วยวิทยฐานะ พระปริยัติธรรมแผนกบาลี เปรียญโท 2 รูป เปรียญตรี 12 รูป แผนกธรรม นักธรรมเอก 48 รูป นักธรรมโท 5 รูป ในจำนวนนี้มีคุณวุฒิสายสามัญ ระดับปริญญาเอก 1 รูป ปริญญาโท 7 รูป ปริญญาตรี  17 รูป  และต่ำกว่าปริญญาตรี 28 รูป  คาดว่าการฝึกอบรมพระธรรมทูตฯ ครั้งนี้ จะได้ผู้เข้ารับการอบรมเป็นพระธรรมทูตที่มีความรู้ ความสามารถ ความมั่นใจ มีศีลาจารวัตรอันดีงาม มีความเสียสละอุทิศตนในการประกาศเผยแผ่หลักธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อันจะนำมาซึ่งความเลื่อมใสศรัทธาของพุทธศาสนิกชนต่อไป
            บัดนี้ งานทุกส่วนและผู้เกี่ยวข้องทุกท่านพร้อมแล้ว ขอประทานกราบเรียน เจ้าประคุณสมเด็จฯ ประธานในพิธี     ได้โปรดเมตตากล่าวเปิดการฝึกอบรมฯ และให้โอวาทเพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติ เพื่อความเป็นสิริมงคล แก่คณะกรรมการ เจ้าหน้าที่ ผู้เข้ารับการฝึกอบรมฯ ตลอดถึงอุบาสก อุบาสิกา ผู้ถวายการอุปถัมภ์ครั้งนี้โดยทั่วกัน… ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด
 


            จากนั้นเจ้าประคุณสมเด็จพระวันรัตได้ให้โอวาทและกล่าวเปิดการฝึกอบรมสรุปความว่า “ขอแสดงความยินดีกับผู้เข้ารับการฝึกอบรมพระธรรมทูตทุกรูป ที่จะต้องไปทำงานในต่างประเทศ ความจริงการเผยแผ่พระพุทธศาสนาเป็นหน้าที่ของพระภิกษุทุกรูป
การเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศนั้นจะต้องมีการมาประชุมรับการอบรมเพื่อจะได้รับการชี้แนะจากผู้ทรงภูมิความรู้

            อย่างไรก็ตามสิ่งที่จำเป็นที่สุดนั้นคือการสร้างศรัทธาปสาทะให้เกิดขึ้นแก่พุทธศาสนิกชน  เพราะฉะนั้นทุกท่านที่มาอบรมในครั้งนี้ก็ต้องตั้งใจศึกษาให้ดี ให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ จงพิจารณาตัวเอง เพื่อเตรียมพระธรรมทูตที่มีคุณภาพ มีศีลาจารวัตรอันดีงาม มีความรู้ความสามารถทั้งในทางโลกและทางธรรม ส่งไปปฏิบัติศาสนกิจประจำวัดในต่าง ๆ ในต่างประเทศ
            คนที่ประพฤติดีนั้นแม้จะไม่มีความรู้มาก แต่ก็เป็นที่ตั้งของความศรัทธา ดังที่กล่าวมาแต่ต้น การมีศีลาจารวัตรอันดีงามจึงเป็นส่วนสำคัญ ข้อปฏิบัติที่สมควรแก่สมณะ อะไรคือสิ่งที่ควรและไม่ควร

            การปฏิบัติดีปฏิบัติชอบจึงเป็นส่วนสำคัญที่สุด การฝึกอบรมก็เป็นไปตามวัตถุประสงค์    ข้อที่ 1 คือเพื่อเตรียมพระธรรมทูตที่มีคุณภาพ มีศีลาจารวัตรอันดีงาม มีความรู้ความสามารถทั้งในทางโลกและทางธรรม ส่งไปปฏิบัติศาสนกิจประจำวัดต่าง ๆ ในต่างประเทศ นี่คือวัตถุประสงค์ข้อแรกซึ่งเป็นส่วนสำคัญ
            การมีความรู้ความสามารถทั้งในทางโลกและทางธรรม ย่อมมีประโยชน์ แต่การประพฤติดีประพฤติชอบเป็นสะพานเชื่อมทำให้เกิดศรัทธาและเกิดการศึกษาปฏิบัติ แม้จะมีความรู้ดีอย่างไรก็ไม่ทำให้เกิดศรัทธาปสาทะได้ ต้องปฏิบัติดีด้วย เพราะฉะนั้นพระธรรมทูตต้องพึงสังวรไว้
            พระพุทธศาสนาแม้จะมีหลักคำสอนมากมาย แต่ในการฝึกอบรมที่สำคัญมีเพียงสามเรื่องคือศีล สมาธิ ปัญญา  ศีลคืออะไร สมาธิคืออะไร ปัญญาคืออะไร เรารู้และเข้าใจชัดเจนหรือยัง  เมื่อไม่รู้จะสอนเขาอย่างไร วิธีปฏิบัติธรรมด้วยวิธีขัดสมาธิหลับตาทำสมาธิ ถามว่าได้อะไร ได้ความสงบ ได้แค่หน้าตาว่าเป็นผู้สอนสมาธิ แต่สมาธิจริงได้หรือไม่ไม่รู้  การทำวัตรสวดมนต์ก็เป็นการทำสมาธิอย่างหนึ่ง  ถามว่าได้อะไร หากไม่รู้ว่าสมาธิคืออะไร ไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้แล้ว  จะไปสอนศีล สมาธิ ปัญญาที่ถูกต้องได้อย่างไร 

 

            ปัญญาในพระพุทธศาสนานั้นมิใช่การสอบได้ปริญญาโท ปริญญาเอก ซึ่งเป็นปัญญาโง่ เราต้องเข้าใจให้ดี พระพุทธเจ้าทรงสมบูรณ์ทุกอย่างในสิ่งที่สามัญชนอยากได้ อยากมี ลองคิดดูว่าสิ่งที่เรารู้ในปัจจุบัน พระพุทธเจ้าเคยรู้มาก่อนแล้ว มนุษย์อยากได้ทรัพย์สิน เงินทอง ข้าทาสบริวาร ปรารถนาอะไรก็อยากได้ตามใจปรารถนา นั่นคือสิ่งที่คนทั่วไปอยากรู้ อยากมี อยากเป็น แต่พระพุทธเจ้าทรงออกไปจากสิ่งเหล่านั้น ออกจากความอยากได้ อยากมี อยากเป็น พระองค์มองว่าเป็นโทษ แต่คนทั่วไปมองว่าเป็นคุณ เราอย่ากลับไปหาสิ่งเหล่านั่น เรียนปริญญาเพื่ออะไร เพื่อเข้าไปหาสิ่งเหล่านั้น นี่คือปัญญาที่พระพุทธเจ้าว่าเป็นความโง่ มิใช่ความฉลาด ปัญญาที่แท้คือสัมมาทิฐิ ปัญญาเห็นชอบคือการรู้ศีล สมาธิ ปัญญา
            ความรู้ที่จะทำให้เป็นอริยะ เป็นเครื่องถอดถอนกิเลสออกจากจิตใจนั้น มิใช่ความรู้อย่างที่ชาวบ้านเข้าใจ เราต้องทำความเข้าใจให้ดีเพื่อจะได้ประกาศพระศาสนา เพื่อความมั่นคงได้อย่างถูกต้อง    การไปปฏิบัติหน้าที่ในต่างประเทศนั้น ขอให้เป็นที่ตั้งของศรัทธาปสาทะให้ได้เสียก่อน

 

            วัตถุประสงค์การฝึกอบรมข้อที่ 3 คือเพื่อสนองงานด้านการเผยแผ่ของคณะสงฆ์และมหาเถรสมาคม ก็อย่างที่บอกแต่ต้นว่าการเผยแผ่พระพุทธศาสนาเป็นหน้าที่ของทุกคน พระสงฆ์สาวกมีหน้าที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า และแนะนำให้ผู้อื่นให้ปฏิบัติตาม มีสองข้อเท่านี้ไม่มีอย่างอื่น จะปฏิบัติดีปฏิบัติชอบได้ก็ต้องมีศึกษาให้มีความรู้ ความรู้ในพระพุทธศาสนาคือการศึกษาภาษาบาลี เพราะหลักสอนบันทึกด้วยภาษาบาลี แต่พระสงฆ์เราไม่ได้สนใจที่จะเรียนภาษาบาลี เข้ามาอบรมได้อย่างไรสอบได้นักธรรมชั้นโท ทำไมไม่ศึกษาภาษาบาลี แต่ไปศึกษาวิชาที่ไม่ค่อยมีประโยชน์คือปริญญาโท ปริญญาเอก ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นมิจฉาวิชา แต่พระสงฆ์เรากลับไปสนใจศึกษาวิชาเหล่านั้น
            เราจะไปสอนศาสนาก็ต้องสอนศีล สมาธิ ปัญญา แต่จะไปสอนวิชาทางโลก สอบได้นักธรรมชั้นโท จะเอาอะไรไปสอนเขา ปริญญาเป็นความฉลาดในทางโลก แต่ไม่ฉลาดในทางธรรม ความฉลาดในทางโลกไม่ได้เป็นที่ตั้งแห่งศรัทธาปสาทะ  ต้องปฏิบัติให้เกิดขึ้นในจิตใจของเราก่อนที่จะไปสอนคนอื่น ต้องคิดให้ดี การสร้างความดีให้เกิดขึ้นกับเรา ก็เป็นความดีของพระศาสนา

 


            วัตถุประสงค์ข้อ 4 คือเพื่อสืบต่ออายุพระพุทธศาสนาและรักษาศรัทธาของชาวพุทธทั่วโลก การได้มีโอกาสได้มาพบกับพวกท่านทั้งหลายในวันนี้ก็เพื่อเตือนสติ การเข้าอบรมคือการทำให้ดีขึ้น ทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ คิดให้ถูก มองให้ถูก เพียงเท่านี้ก็ใช้ได้แล้ว
            ที่พูดมาทั้งหมดนั้นฝากไว้เป็นข้อคิด ขอให้ท่านทั้งหลายตั้งใจฝึกอบรมให้ครบตามหลักสูตร ขอเปิดการฝึกอบรมพระธรรมทูต รวมถึงขออนุโมทนาแก่ทุกท่านที่ให้การสนับสนุน ขอให้บรรลุวัตถุจงทุกประการ เป็นการส่งเสริมพระพุทธศาสนาให้มั่นคงในต่างประเทศ ขออำนวยพรให้ทุกท่านจงมีความสุขความเจริญ ขออนุโมทนาทุกท่าน

 

พระมหาบุญไทย  ปุญญมโน
รายงาน
19/01/58

 




ภาพพิธีปฐมนิเทศการฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธรรมยุต) รุ่นที่ 21/2558

 

Copyright © ๒๕๕๙ สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธรรมยุต) กรุงเทพมหานคร