Get Adobe Flash player

เมนูหลัก

               สถาบันฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ (ธรรมยุต) วัดพระศรีมหาธาตุบางเขน ในช่วงนี้เต็มไปด้วยพระภิกษุที่กำลังคราเคร่งกับการศึกษาเพื่อที่จะได้สำเร็จหลักสูตรการฝึกอบรมซึ่งใช้ระยะเวลาสามเดือนเต็ม ช่วงแรกภาควิชาการ ตามมาด้วยภาคนวกรรม จิตตภาวนา และภาคการศึกษาดูงานที่ประเทศอินเดีย เรียนทุกวันตั้งแต่เช้าถึงเย็น พระภิกษุเหล่านี้ได้ผ่านการสอบคัดเลือกจากคณะกรรมการหลายขั้นตอน เมื่อมีสิทธิ์ในการฝึกอบรมก็ต้องใช้ความเพียรพยายามอย่างมาก จึงจะมีสิทธิ์เป็นพระธรรมทูตออกไปปฏิบัติศาสนกิจในต่างประเทศ บางรูปทำสำเร็จ บางรูปล้มเหลว บางรูปอาจจะทิ้งร่างวางสังขารไว้ในต่างแดนไม่มีโอกาสได้กลับมาเมืองไทยอีกเลย

               ช่วงนี้มีกรณีปราสาทพระวิหารอันเป็นกรณีพิพาทระหว่างไทยกับกัมพูชาเป็นข่าวขึ้นมาอีกครั้ง ได้เห็นนักกฎหมาย ทนายความ จนกระทั่งนักการทูตออกมาเสนอข่าวอย่างต่อเนื่อง บางกลุ่มถึงกับจัดการชุมนุมเรียกร้องต่อคำตัดสินของศาลโลก ผลจะออกมาอย่างไรนั้นต้องคอยติดตามกันต่อไป

 

               คำว่า “ทูต” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 ให้คำนิยามไว้ว่า ทูต น. ผู้นําข้อความไปแจ้งทั้งสองฝ่าย  ผู้รับใช้ไปเจรจาแทน ผู้สื่อสาร  ผู้ที่ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้แทนไปยังต่างประเทศ เพื่อเจรจาหรือเจริญสันถวไมตรีเป็นทางราชการ
               ส่วนพจนานุกรมบาลีไทยให้ความหมายไว้ว่า คำว่า “ทูต” เป็นคำนามปุงลิงค์(เพศชาย) แปลว่าคนสื่อสาร คนที่ชักนำข้อความไปแจ้งทั้งสองฝ่ายหรืออีกนัยหนึ่ง เป็นคำนามนปุงสกลิงค์(ไม่ชายไม่หญิง) การเล่นการพนัน  หากเป็นคำนามอิตถีลิงค์(เพศหญิง)จะใช้เป็น “ทูตี” หมายถึงทูตหญิง แม่สื่อ  การงานที่ทูตจะต้องทำ หรือหน้าที่ทูต ใช้คำภาษาบาลีว่า “ทูเตยฺยกมฺม”
               ผู้ทำหน้าที่ทูตจึงเป็นผู้ประสานผลประโยชน์ทั้งสองฝ่าย จะเจรจาอย่างไรให้ฝ่ายตนได้รับประโยชน์มากที่สุด ในขณะเดียวกับกับฝ่ายที่เราไปเจรจาด้วยก็ได้รับประโยชน์ เรียกว่าเป็นการชนะทั้งสองฝ่าย งานของผู้ทำหน้าที่เจรจาแทนจึงไม่ใช่งานง่าย ที่มองเห็นภาพชัดที่สุดตามธรรมเนียมไทยคือความหมายของทูตฝ่ายหญิงนั่นคือแม่สื่อ จะทำอย่างไรให้ชายหญิงทั้งสองฝ่ายได้แต่งงานกัน หากทำสำเร็จหน้าที่แม่สื่อก็ถือว่าทำงานสำเร็จ ส่วนเมื่อแต่งงานไปแล้วจะอยู่กันยืดหรือไม่นั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

 

               การเจรจาต่อรองต้องอาศัยผู้ที่มีความสามารถในการเจรจาเพื่อรักษาผลประโยชน์ ของหมู่คณะ เรียกว่าต้องชนะทั้งสองฝ่ายได้ผลประโยชน์ด้วยกัน การทำหน้าที่นักการทูตพระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงคุณสมบัติของผู้ทำหน้าที่ทูตไว้ ก่อนที่จะมอบหมายให้พระสารีบุตรไปทำหน้าที่ทูตเจรจากับลูกศิษย์พระเทวทัตที่ถูกสอนในทางที่ผิด ในที่สุดก็สามารถนำพาภิกษุเหล่านั้นกลับมาในทางที่ถูกได้  
           ในพระไตรปิฎกได้แสดงองค์คุณของนักการทูตไว้หลายแห่ง แต่วันนี้นำมาเสนอได้เพียงสองแห่งคือในพระวินัยปิฎก จุลวรรค และพระสุตตันตปิฎกทูตสูตร อังคุตตรนิกาย มีข้อความดังต่อไปนี้
           ในพระวินัยปิฎก จุลวรรค (7/398/201) ว่า  “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์แปดประการควรทำหน้าที่ทูตคือภิกษุในธรรมวินัยนี้รับฟัง ให้ผู้อื่นฟัง  กำหนด ทรงจำ  เข้าใจความ  ให้ผู้อื่นเข้าใจความ  ฉลาดต่อประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ ไม่ก่อความทะเลาะ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์แปดนี้แล ควรทำหน้าที่ทูต” 

 

           เมื่อนำมาใช้กับหลักการทูตทั่วไปก็ตัดคำว่า “ภิกษุ” ออกก็จะได้ความว่า ผู้ประกอบด้วยองค์แปดประการควรทำหน้าที่ทูตคือเป็นผู้รับฟัง ให้ผู้อื่นฟัง  กำหนด ทรงจำ  เข้าใจความ  ให้ผู้อื่นเข้าใจความ  ฉลาดต่อประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ ไม่ก่อความทะเลาะ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ผู้ประกอบด้วยองค์แปดนี้แล ควรทำหน้าที่ทูต” 
           อีกแห่งหนึ่งในทูตสูตร อังคุตตรนิกาย (23/106/149) ความว่า “ภิกษุใดแล สอนบริษัทให้เรียนให้อ่าน ไม่สะทกสะท้าน ไม่ให้เสียคำที่พูด ไม่ให้เสียคำสอน ชี้แจงให้เขาหมดสงสัย  และเมื่อถูกซักถามก็ไม่โกรธ ภิกษุเช่นนี้นั้นแล ควรไปเป็นทูตได้”
           เมื่อนำมาใช้กับผู้ทำหน้าที่ทูตโดยทั่วไปก็จะได้เนื้อความดังต่อไปนี้ “ผู้สามารถสอนคนให้เรียนให้อ่าน ไม่สะทกสะท้าน ไม่ให้เสียคำที่พูด ไม่ให้เสียคำสอน ชี้แจงให้เขาหมดสงสัย  และเมื่อถูกซักถามก็ไม่โกรธ คนเช่นนี้แล ควรไปเป็นทูตได้”

 

           การทำหน้าที่ทูตจึงควรดำเนินตามองค์แห่งความเป็นทูตตามที่พระพุทธเจ้าทรง แสดงไว้ดีแล้ว จึงจะทำให้เกิดหิตานุประโยชน์แก่มหาชน หากพระธรรมทูตยึดมั่นในหลักการที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ดีแล้ว พระภิกษุที่มีคุณสมบัติเพียบพร้อมเหล่านี้ก็จะเป็น “ทูตแห่งธรรม” ที่จะนำหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนาไปประกาศให้ชาวโลกได้รับรู้สัมผัสศึกษาและนำพาไปสู่สันติสุข

          สถาบันฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธรรมยุต)ยังคงทำการฝึกอบรมพระภิกษุที่มีความปรารถนาจะเดินทางไปทำหน้าที่ทูตในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศ พระภิกษุที่เข้ารับการฝึกอบรมต่างก็มุ่งมั่นกับภารกิจที่จะต้องอดทนให้มาก และจะต้องฝันฝ่าไปให้ได้ กว่าที่บูรพาจารย์จะสามารถทำให้พระพุทธศาสนาตั้งมั่นในประเทศไทยได้นั้นก็ต้องใช้ความพยายามอย่างมาก เพราะพระพุทธศาสนาไม่ได้กำเนิดในสุวรรณภูมิ แต่กำเนิดในชมพูทวีป ณ ดินแดนอันไกลโพ้น การทำให้พระพุทธศาสนาสถิตอยู่สังคมไทยยากแล้ว แต่การรักษาพระพุทธศาสนาให้คงอยู่ต่อไปในอนาคตกาลนั้นยากยิ่งกว่า

 

พระมหาบุญไทย  ปุญญมโน
23/01/56

Copyright © ๒๕๕๙ สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธรรมยุต) กรุงเทพมหานคร